จากประกาศดังกล่าว Microsoft ได้เปลี่ยนแปลงโมเดลในการให้บริการโดยเน้นไปให้บริการการขาย Windows 10 License ในรูปแบบการเช่าใช้ขึ้นมาแทน โดยจะถูกเรียกใหม่ว่า Windows 10 Enterprise E3 Plan ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน โดยการให้บริการภายใต้โมเดลนี้ทำให้ Microsoft สามารถรวมเซอร์วิสในการให้บริการในระดับองค์กรไว้มากถึง 4 ส่วน และแพ็กเกจใหม่นี้ทำให้ Microsoft ถือว่าเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ตั้งแต่ระดับ Infrastructure, Software, Platform ไปจนถึงระดับ Endpoint เลยทีเดียว
ที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ในวงการไอทีหลายๆ รายก็ได้เริ่มผันตัวเองจากรูปแบบการติดตั้งลงบนเครื่องแบบเดิมๆ มาเป็นการใช้บริการผ่าน Cloud Service ที่จะให้บริการได้ทั้งการใช้งานจากที่ไหนก็ได้ และยังไม่ทิ้งความสามารถในการติดตั้งลงบนเครื่องของตัวเองได้เช่นกัน แต่การกระทำของ Microsoft ในครั้งนี้ได้สร้างความน่าตกใจให้กับตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ให้บริการรายอื่นส่วนมากจะเน้นไปในการนำ Flagship Product ในเชิงของซอฟต์แวร์ไปทำตลาดในรูปแบบของคลาวด์ แต่ยังไม่เห็นว่าผู้ให้บริการรายใดที่จะนำเอา Endpoint Client OS มาทำในรูปแบบนี้มาก่อน
ทั้งนี้ Microsoft ได้ออกมายืนยันข่าวนี้ตั้งแต่ช่วงแรกแล้วว่า ต่อจากนี้ไปเวอร์ชั่นของ Windows จะหยุดไว้เพียงแค่ Windows 10 และจะไม่มีการพัฒนาต่อไปในเวอร์ชั่นอื่นๆ แน่นอน แต่จะเน้นที่การให้บริการอัพเกรดและเสริมความสามารถจากตัว Windows 10 เองอย่างอัตโนมัติแทน และเป็นไปได้ว่า Microsoft อาจเปลี่ยนชื่อ Windows 10 ไปเป็น Windows อย่างเดียวในอนาคตอันใกล้
การรวม Windows 10 เข้าไปอยู่ในรูปแบบของ Cloud Model ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปหรือองค์กรสามารถตัดปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยในตัวระบบปฏิบัติการลงไปได้จำนวนหนึ่ง ซึ่ง Microsoft ได้เคลมไว้ว่า ผู้ใช้งาน Windows 10 as a Service นั้นมีระบบ Windows Defender ไว้ใช้สำหรับคอยช่วยป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ที่เข้ามา พร้อมกับอัพเกรดให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่อยู่เสมอเพื่อพร้อมสำหรับการเฝ้าระวังภัยทุกชนิด