ภัยไซเบอร์คุกคามการเงิน โอน-จ่ายออนไลน์ต้องระวัง
การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ยังคงมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเก่งด้านเทคโนโลยีมากเพียงใด แต่ถ้าผู้ใช้งานไม่รอบคอบหรืออัพเดทระบบให้มีความทันสมัยเสมอ ยิ่งเปิดโอกาสให้แฮ็กเกอร์เข้ามาโจรกรรมได้ง่ายขึ้น
วิทาลี คามลัก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยของแคสเปอร์สกี้ แล็บ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Global Research and Analysis Team - GReAT) ได้กล่าวในงาน Kaspersky Lab Cyber Security Weekend for Asia Pacific Countries เกี่ยวกับความปลอดภัยไซเบอร์ด้านการเงินไว้ว่า
ภัยคุกคามทางการเงินนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฉ้อโกงออนไลน์ โทรจันโจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ไปจนถึงการโจมตีสถาบันการเงิน ตู้เอทีเอ็ม และจุดชำระค่าสินค้าและบริการ
จากการเก็บข้อมูล พบว่า การเงินของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีการพัฒนาที่รวดเร็ว แน่นอนว่าเป็นโอกาสให้อาชญากรไซเบอร์สามารถเสาะหาผลประโยชน์จากจุดนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่มีการเติบโตเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้ใช้งานเสมอ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งรายบุคคลและองค์กรส่วนใหญ่ มักจะหลงลืมนึกถึงความปลอดภัย
ผลวิจัยจากรายงาน เรื่อง The Consumer Security Risks Survey 2016 โดยแคสเปอร์สกี้ แล็บ ร่วมกับ บีทูบี อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวน 67% ยังมีความกังวล เรื่อง การฉ้อโกงผ่านธนาคารออนไลน์ โดย 63% ระบุว่า กังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ขณะทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และอีก 62% จะใช้ธุรกรรมสำหรับการจ่ายเงินออนไลน์บ่อยขึ้น หากมีระบบการป้องกันที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ช่องทางออนไลน์ยังคงมีความกังวล เรื่อง ความปลอดภัยทางการเงิน โดยผู้ใช้งานทั่วโลก จำนวน 5% เคยสูญเงินจากการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์ มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 476 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว การโจรกรรม อย่างเช่น สแปม ฟิชชิ่ง และโทรจันแบงก์กิ้ง ยังคงเป็นภัยคุกคามทางการเงินที่ระบาดมากที่สุด ผู้ใช้งานบริการทางการเงินออนไลน์ควรระมัดระวัง สังเกตว่าเว็บไซต์ที่เข้าใช้งานนั้นเป็นของเจ้าของธนาคารจริงหรือไม่
หากมีอีเมลส่งเข้ามาลวงถามข้อมูลทางการเงิน หรือโทรเข้ามาสอบถามรหัสเพื่อให้ธนาคารตรวจสอบ ให้ระแวงไว้ก่อนว่า อาจจะไม่ได้มาจากเจ้าของธนาคารโดยตรง การมีระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยผ่านรหัส OTP หรือแอพพลิเคชั่นสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ใช้งานควบคู่กันนั้น ถือว่าเป็นการตรวจสอบระบบการใช้งานขั้นพื้นฐานได้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากการใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ทั้งนี้ โทรจันแบงก์กิ้งยังคงเป็นภัยคุกคามออนไลน์ที่น่ากลัวที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เพราะสามารถแพร่กระจายผ่านเว็บไซต์หลอกลวงหรือเว็บไซต์ที่ถูกแก้ไขดัดแปลง รวมทั้งผ่านอีเมลสแปม เมื่อผู้ใช้บริการการเงินออนไลน์ติดเชื้อแล้ว จะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวอย่างง่ายดาย เช่น รายละเอียดบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน รายละเอียดการจ่ายผ่านบัตรต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของบริษัท ยังชี้ให้เห็นว่า ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 จำนวนโทรจันแบงก์กิ้งในประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 24% อินเดีย เพิ่มขึ้น 31% จีน เพิ่มขึ้น 43% และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 104% โดยเวียดนามและอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนเหยื่อมากที่สุด ส่วนประเทศอื่นๆ มีจำนวนลดลงอาจจะเป็นเพราะมีการสร้างความรู้และเข้าใจให้แก่ผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การติดตั้งโซลูชั่นที่ปลอดภัยในทุกอุปกรณ์ที่เข้าถึงบริการธุรกรรมออนไลน์ อัพเดทและใช้งานซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายากและเปลี่ยนใหม่เสมอ ไม่คลิกหรือเข้าถึงลิงค์ที่น่าสงสัย รวมทั้งตรวจสอบยูอาร์แอล (URL) ของธนาคารก่อนเข้าใช้งานเสมอ
ที่มา : Posttoday.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!