10 เหตุผล! ทำความรู้จักกีฬา E-Sport ที่ไม่ใช่แค่เด็กติดเกมอีกต่อไป


ในมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อเกมออนไลน์ อาจถูกมองว่าไร้สาระ เสียเวลา และเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกมองว่าเป็น "เด็กติดเกม" ถูกบังคับให้เลิกเล่น ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจนเกิดเป็นปัญหาต่างๆ ตามมา เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย บวกกับรูปแบบของเกมที่มีหลากหลายมากขึ้น ทำให้ยากหากต้องป้องกันไม่ให้ลูกหลานสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้

แต่จะดีแค่ไหน หากผู้ปกครองพร้อมจะเข้าใจไปพร้อมกันกับลูกหลานเกี่ยวกับการแบ่งเวลา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันนี้เกมออนไลน์ถูกจัดให้เป็นกีฬา E-Sport พร้อมกับบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่จะถึงนี้

แต่คำถามคือ เล่นเกมอย่างไรให้เป็นกีฬา E-Sport วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จะมาไขข้อข้องใจ พร้อมพาท่านไปรู้จักกับกีฬาประเภทนี้ให้มากขึ้น...

1. หากแปลความหมายตรงตัวของคำว่า กีฬา จะได้ความหมายว่าเป็นกิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือเพื่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต รวมไปถึงกิจกรรมที่อยู่ภายใต้กติกา ซึ่งถูกกำหนดโดยความเห็นที่ตรงกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อน การแข่งขัน ความเพลิดเพลิน ความสำเร็จ การพัฒนาของทักษะ หรือหลายสิ่งรวมกัน ดังนั้นจึงไม่มีคำจำกัดความไหนเลยที่จะจำกัดไม่ให้เกม ถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในประเภทของกีฬา

2. The Olympic Council of Asia (OCA) ให้คำยืนยันมาแล้วว่า กีฬา E-Sport จะถูกบรรจุให้เป็นการแข่งขันกีฬาในเอเชียนเกมส์ ปี 2018 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และ 2022 Asian Games ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน

3. จากการสำรวจของบริษัท SuperData Research พบว่ามีเงินหมุนเวียนมากกว่า 892 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับกีฬาประเภทนี้ คิดเป็นเงินมากกว่า 30,000 ล้านบาท

4. เชื่อว่าหากกีฬาอีสปอร์ตนี้มองแล้วไม่มีอนาคต ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba คงไม่กระโดดเข้ามาเล่นด้วย แต่นี่ Allisports กลับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลักดันให้การแข่งเกมถูกบรรจุเป็นกีฬา ทำให้หลายอุตสาหกรรมมองว่ากีฬาประเภทนี้ต้องไปได้อีกไกลแน่นอน

5. ที่น่าสนใจคือ ขณะนี้กลุ่มธุรกิจมากมายเริ่มให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนกีฬาชนิดนี้อย่างเต็มตัว อาทิ ASUS

6. ปัจจุบันจะเห็นตัวเลขที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีเกมเมอร์อยู่กว่า 10 ล้านคน แต่ผู้ที่เป็นนักกีฬา E-Sport อย่างจริงจังกลับมีไม่ถึง 1 แสนคน

7. ปัญหาสำคัญที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมและคนในครอบครัวคือ กีฬาประเภทนี้ถูกมองว่าไร้สาระ ทั้งๆ ที่จริงแล้วกีฬาประเภทนี้อาจสามารถส่งเสริมให้คนพัฒนาแนวคิด วิเคราะห์สถานการณ์ เป็นการเพิ่มทักษะและการแก้ไขปัญหา

8. 2 เกมที่มีผู้เล่นเยอะที่สุดคือ Dota 2 และ Counter-Strike: Global Offensive ซึ่งทั้ง 2 เกมนี้มีอัตราเจริญเติบโตเป็นอย่างมากทั้งในด้านของจำนวนผู้เล่น และความเข้มข้นจริงจังของเหล่าผู้แข่งขัน

9. เงินรางวัลของ E-Sport ก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา เนื่องจากในการแข่งขันงาน The International 2016 เกม Dota 2 มีเงินรางวัลมากถึง 20,770,640 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 700 ล้านบาท มากพอๆ กับกีฬาประเภทอื่นๆ

10. แยกให้ออกระหว่างเด็กติดเกม และผู้ที่เล่นเกมเป็นอาชีพ

- เด็กติดเกม: อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเอง อาทิ อาการปวดหลัง ปวดหัว อ่อนเพลีย และมีผลกระทบต่อการพัฒนาการ อีกทั้งการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวลดลงก็อาจทำให้เกิดความเหินห่างกับคนรอบข้าง รวมถึงการแบ่งเวลาในการเรียนและการทำงานด้วย

- นักกีฬาอีสปอร์ต: มีกระบวนการควบคุมตัวเองในการฝึกซ้อม มีวินัย มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารเวลา แยกเวลาเรียน/ทำงานให้เด็ดขาด หากเล่นเกมที่เป็นทีม จะต้องมีตารางซ้อมอย่างมีวินัย มีเป้าหมายเหมือนนักกีฬามืออาชีพ หากทำได้ก็จะเป็นที่ยอมรับของสังคมและคนรอบข้าง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากีฬาอีสปอร์ตในขณะนี้จะสามารถทำรายได้สูงก็จริง แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่าเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยง เพราะจะมีสักกี่คนที่จะยึดอาชีพนี้ไปได้ตลอดชีวิต...


10 เหตุผล! ทำความรู้จักกีฬา E-Sport ที่ไม่ใช่แค่เด็กติดเกมอีกต่อไป

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์